ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คือ ธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คือ ธรรมกาย

ผู้ตั้งอยู่ในธรรม คือ ธรรมกาย

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

คำว่า "ธรรมกาย" ในคัมภีร์ฎีกาแห่งมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ชื่อ ลีนัตถปกาสินี หน้า ๕๐ ว่า

ธมฺเม ฐิตสฺสาติ ธมฺมกาเย สุปฺปติฏฺฐิตสฺส ฯ

แปลว่า : คำว่า ธมฺเม ฐิตสฺส หมายถึง ผู้ตั้งอยู่ด้วยดีในธรรมกาย ฯ

ขยายความ : ข้อในคัมภีร์ฎีกาตอนนี้เป็นคำอธิบายความใน คัมภีร์อรรถกถาและคัมภีร์พระไตรปิฎกคือ อุปาลิวาทสูตรในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ กล่าวถึง อุบาลีคหบดีผู้เคยเป็นสาวกผู้ใหญ่ของนิครนถ์นาฏบุตร ซึ่งนิครนถ์นาฏบุตรผูกปัญญาให้ไปทูลโต้วาทะกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนได้บรรลุโสดาปัตติผล ภายหลังไม่ต้อนรับพวกนิครนถ์ ถูกนิครนถ์นาฎบุตรถามว่า จะให้ใครทราบว่าอุบาลีคหบดีจะเป็นสาวกของใคร จึงได้พรรณนาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก จนนิครนถ์นาฏบุตรทนไม่ได้ ถึงกับกระอักโลหิตในที่นั้นนั่นเอง ซึ่งข้อความที่เป็นคุณบทคือคำว่า ธมฺมฏฺฐสฺส ก็ปรากฏเป็นบทสรรเสริญพระคุณของพระผู้มีพระภาคอยู่ในพระสูตรนี้ด้วย ว่า

ธมฺมฏฺฐสฺสาติ ธมฺเม ฐิตสฺส

แปลว่า : คำว่า ธมฺมฏฺฐสฺส แปลว่า ผู้ตั้งอยู่ในธรรม (ม.อุ.ปปญฺจสูทนี หน้า๗๓)

...นิสภสฺส อปฺปเมยฺยสฺส คมฺภีรสฺส โมนปฺปตฺตสฺส เขมงฺกรสฺส เวทสฺส ธมฺมฏฺฐสฺส สุสํวุตตฺตสฺส สงฺคาติคสฺส มุตฺตสฺส ภควโต ตสฺส สาวโกหมสฺมิ.... (ม.ม.อุปาลิวาทสูตร ๑๓/๘๒/๗๗)

แปลว่า : ….ข้าพเจ้าเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้องอาจ ไม่มีใครประมาณได้ มีพระคุณลึกซึ้ง บรรลุถึงญาณ ทรงทำความเกษม ทรงมีพระญาณ ทรงตั้งอยู่ในธรรม (ในธรรมกาย) ทรงสำรวมพระองค์ดี ทรงล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ผู้พ้นแล้ว ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อพบคำว่า ตั้งอยู่ในธรรม (ธมฺมฏฺฐ ,ธมฺเม ฐิต เป็นต้น) ซึ่งเป็นคำกล่าวแสดงคุณบทกล่าวสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือของพระอริยสาวกทั้งหลาย ซึ่งมีกล่าวไว้มากมายในคัมภีร์พระพุทธศาสนา บัณฑิตทั้งหลายพึงทราบไว้เถิดว่า ท่านกล่าวหมายถึง การตั้งอยู่ การดำรงอยู่หรือสถิตย์อยู่ในธรรมกาย อันเป็นกายให้ได้ตรัสรู้ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ซึ่งบัณฑิตทั้งหลายผู้มีปรีชาญาณสมัยนั้นก็พึงรู้ได้ด้วยคำย่อ ๆ ว่า "ตั้งอยู่ในธรรม" (ธมฺมฏฺฐ เป็นต้น) แต่ก็เป็นการยาก เมื่อถึงชาวเราทั้งหลายผู้มีปรีชาญาณน้อยสมัยนี้ จะเข้าใจได้ พระโบราณาจารย์ผู้มีปรีชาญาณทั้งหลายจึงต้องขยายความออกไปอีกหน่อยว่าหมายถึง ตั้งอยู่ด้วยดีใน ธรรมกาย เพราะเหตุนั้นพระฏีกาจารย์ท่านจึงกล่าวไว้แต่ต้นว่า

ธมฺเม ฐิตสฺสาติ ธมฺมกาเย สุปฺปติฏฺฐิตสฺส ฯ

แปลว่า : คำว่า ธมฺเม ฐิตสฺส ผู้ตั้งอยู่ในธรรม หมายถึง ผู้ตั้งอยู่ด้วยดีในธรรมกาย ฯ ดังพรรณนามาฉะนี้.

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้