ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ในธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ในธรรมกาย

ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ในธรรมกาย

ขยายความหลักฐานธรรมกาย โดย พระมหาสมเกียรติ วรยโส (ป.ธ.๙)

คำว่า "ธรรมกาย" ในอรรถกถา จักรวรรดิสูตร สังยุตตนิกาย ชื่อ สารัตถปกาสินี ฉบับมหาจุฬา ฯ ข้อ ๒๒๔ หน้า ๒๒๓ ว่า

จกฺกวตฺติโน จ รตเนสุ มหากายูปปนฺนํ อจฺจุคฺคตํ วิปุลํ มหนฺตํ หตฺถิรตนํ, อิทมฺปิ ธมฺมวิจยสมฺโพชฺฌงฺครตนํ มหนฺตํ ธมฺมกายูปปนฺนํ อจฺจุคฺคตํ วิปุลํ มหนฺตนฺติ หตฺถิรตนสทิสํ โหติ.

คำแปล : บรรดารัตนะทั้งหลาย ช้างแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิเกิดร่างใหญ่ สูง ไพบูลย์ใหญ่ธัมมวิจยสัมโพชฌังครัตนะ เข้าถึงธรรมกายเป็นอันมาก สูงส่งแผ่ไปอย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงเปรียบด้วยช้างแก้ว.

ขยายความ : คำว่า เข้าถึง ธรรมกาย เป็นอันมาก หมายความว่า ธรรมอันเป็นส่วนหนึ่งแห่งการตรัสรู้ก็คือญาณเป็นเครื่องสอดส่อง วิจัย ใคร่ครวญ พิจารณาธรรม (ทั้งกุศลธรรมและอกุศล) มีใน ธรรมกาย เป็นอันมาก คือมีปรากฏใน ธรรมกาย ทุกประเภท เพราะ ธรรมกาย คือ ตถาคต เป็นที่ปรากฏของรัตนะ คือโพชฌงค์ ๗ ประการ ดังที่ตรัสไว้ใน จักกวัตติสูตร ในสังยุตตนิกาย มหาวรรค (๑๙/๕๐๖/๑๒๖) ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะพระตถาคต (ธรรมกาย) อรหันตสัมพุทธเจ้าปรากฏ รัตนะ คือ โพชฌงค์ ๗ จึงปรากฏ" ดังนี้

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ โดยความ ได้แก่ตัวปัญญาที่มีความเจริญ คือ รู้อยู่ในรูปนาม และความเกิดดับของรูปนามโดยกิจคือการภาวนา แล้วทำลายโมหะ และปรากฏขึ้นโดยความเป็นสัมโพธิญาณ คือ มรรคทั้ง ๔ โดยองค์ธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ในมหากุศลและมหากริยาญาณสัมปยุตตจิต และอัปปนาชวนจิต ๒๖ ในแต่ละกาย

ดังนั้น ธรรมกาย กับปัญญา คือ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ จึงเป็นเอกภาพ คือแบ่งแยกกันมิได้ บุคคลจะบรรลุถึงได้ก็ด้วยการบำเพ็ญเพียรทำสมาธิจนจิตละเอียด จนเข้าถึงธรรมกายเป็นลำดับ อาศัยธรรมกายซึ่งมีธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ถึงความผ่องใสแห่งปัญญา เพราะทิ้งอวิชชาอันเป็นกากเสียได้ จึงถึงการตรัสรู้ธรรมโดยชอบ. เพราะเหตุนั้น พระอรรถกถาจารย์จึงกล่าวว่า "ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์รัตนะ เข้าถึงธรรมกายเป็นอันมาก" ดังนี้เป็นต้น

พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนีกล่าวไว้ว่า "มีสติใจหยุดนิ่งอยู่ก็สอดส่องอยู่ ความดีความชั่วจะเล็ดลอดเข้ามาท่าไหน ความดีจะลอดเข้ามาหรือความชั่วจะลอดเข้ามา ความดีลอดเข้ามาก็ทำใจให้หยุด ความชั่วลอดเข้ามาก็ทำใจให้หยุด ดีชั่วไม่ผ่องแผ้วไม่เอาใจใส่ ไม่กังวลไม่ห่วงใยใจหยุดระวังไว้ ไม่ให้เผลอก็แล้วกัน นั่นเป็นตัวสติวินัย ที่สอดส่องอยู่นั่นเป็นธรรมวิจยสัมโพชฌงค์

คำค้น
1
บทความอื่นๆในหมวดนี้