วัดพระธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วัดพระธรรมกาย

วัดพระธรรมกาย

ปณิธานในการสร้างวัดพระธรรมกาย

ความตั้งใจแน่วแน่ของคณะผู้บุกเบิกสร้างวัด คือการอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่ชาวโลก จึงมีแนวทางสำคัญคือ

  • สร้างวัดให้เป็นวัด คือ เป็นวัดที่สะอาด สงบ ร่มรื่น เหมาะสมแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมของประชาชน
  • สร้างพระให้เป็นพระ คือ ฝึกอบรมพระภิกษุ ให้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร และคุณธรรมภายใน เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่ประชาชนได้
  • สร้างคนให้เป็นคนดี คือ สร้างคนดีมีศีลธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ

ด้วยเหตุนี้ วัดพระธรรมกายจึงมุ่งเน้นการอบรมธรรมะทั้งภาคปริยัติและ ปฏิบัติ ให้แก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนสาธุชนผู้สนใจศึกษาธรรมะทุกท่านตลอดมา รวมทั้งเน้นในเรื่องของความสะอาด ความสงบ ความร่มรื่น ร่มเย็น และมีนโยบายหลักในการก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เท่าที่จำเป็นต่อการใช้งาน ซึ่งเน้นความประหยัด ความประณีต คงทนถาวร และประโยชน์ในการใช้งานเป็นหลัก หลักการของวัดพระธรรมกายมุ่งที่ศีลธรรม ไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถาน หรือสถานที่สำหรับการประกอบพิธีกรรมเท่านั้น สรุปได้ว่า “วัดคือโรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับ มหาชน” การฝึกคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ หากได้รับการสอนและการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังแล้ว ก็จะเป็นผู้รักศีลธรรม สนใจธรรมะ และจะช่วยดึงให้ห่างพ้นจากอบายมุขและยาเสพติด

จากวันวานถึงวันนี้

วัดพระธรรมกายในวันนี้ ได้ผ่านวันเวลาอันยาวนานมาถึง 4 ทศวรรษ โดยมุ่งมั่นในภารกิจเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย เพื่อสันติสุขแก่มวลมนุษยชาติตลอดมา ย้อนไปในวันวาน ผืนดินที่ก่อตั้งวัดพระธรรมกายเป็นเพียงท้องนากว้างไกลสุดสายตา ระยิบระยับด้วยเปลวแดด ปราศจากต้นไม้น้อยใหญ่และถาวรวัตถุใดๆ ในยามค่ำคืนมีเพียงดาวพราวแสงเต็มผืนฟ้า

ในวันมาฆบูชาที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 หมู่คณะผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย หลวงพ่อธัมมชโย ซึ่งขณะนั้นเพิ่งบวชได้เพียง 1 พรรษา คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง (อายุ 61 ปี) และศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันขุดดินก้อนแรก ก่อสร้างพุทธจักรปฏิบัติธรรมขึ้นบนที่ดินที่ได้รับบริจาคจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี จำนวน 196 ไร่ (ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมได้รับวิสุงคามสีมา และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระธรรมกาย” เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2524)

ขณะเริ่มสร้างวัด คุณยายอาจารย์ฯ มีเงินทุนเริ่มแรกเพียง 3,200 บาท ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการสร้างวัดด้วยมือเปล่า ครั้งนั้นมีลูกศิษย์ถามท่านว่า “เรามีเงินทุนอยู่เพียงเท่านี้ จะสร้างวัดสำเร็จได้อย่างไร” คุณยายอาจารย์ฯ ถามกลับไปว่า “ถ้าเราจะสร้างคนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ยอมอุทิศชีวิตให้พระศาสนามาสักคนหนึ่งจะต้องใช้เงินสักเท่าไร” ศิษย์คนนั้นตอบว่า “หมดเงินไปเป็น 100 ล้าน ก็ยังไม่แน่ว่าจะสร้างมาได้สักคน” คุณยายอาจารย์ จึงพูดว่า “ตอนนี้ยายมีคนดีๆอย่างพวกคุณมานั่งอยู่ตรงหน้านี้แล้วตั้ง 11 คน แสดงว่ายายมีทุนอยู่แล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ล้าน ยายต้องสร้างสำเร็จแน่”

เมื่อมีทั้งที่ดินและหมู่คณะที่พร้อมจะทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแล้ว การหาทุนสร้างวัดก็เริ่มขึ้น โดยการช่วยกันเขียนหนังสือตามหาผู้ที่เคยทำบุญร่วมกันมาในอดีตชาติให้ได้มาสร้างบารมีร่วมกันอีกในชาตินี้ และอธิษฐานให้ผู้มีบุญเหล่านั้นมีโอกาสอ่านหนังสือเล่นนี้ ที่มีชื่อว่า “เดินไปสู่ความสุข” หลังจากหนังสือเล่มนี้เผยแพร่ออกไป ก็เริ่มมีสาธุชนเดินทางไปร่วมทำบุญสร้างวัด บางท่านก็ส่งเงินไปทำบุญทางไปรษณีย์ จนกระทั่งพอมีทุนดำเนินการก่อสร้างวัด

ผลงานชิ้นแรกของหมู่คณะ ก็คือ การขุดคูรอบพื้นที่ เพื่อกั้นอาณาเขต และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ญาติโยมว่าจะมีการสร้างวัดบนพื้นที่แห่งนี้จริงๆ ในระยะแรก การสร้างวัดเป็นไปด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง ขาดแคลนทั้งกำลังทรัพย์และกำลังคน ที่มีอยู่เต็มเปี่ยม คือ กำลังใจเท่านั้น อาหารการกินขณะนั้นก็มีแต่น้ำพริกจิ้มกับผักบุ้งและดอกโสนที่เก็บมาจากท้องนาเป็นหลัก

ปี พ.ศ.2518 อาคารหลังแรก คือ อาคารจาตุมหาราชิกาได้ก่อสร้างขึ้น เพื่อรองรับสาธุชนที่ไปปฏิบัติธรรมที่วัด ต่อมาเมื่อสาธุชนเหล่านี้ได้รับความสุขจากการทำสมาธิ  ก็ชักชวนกันเข้าวัดมากขึ้นจนอาคารหลังนี้ไม่พอรองรับ ต้องนั่งสมาธิกันใต้ต้นไม้ บางครั้งก็โดนแดด โดนฝน ทางวัดจึงสร้างสภาธรรมกายสากลหลังคาจากขึ้น เพื่อให้สาธุชนมีที่นั่งเพียงพอ หลังจากนั้นไม่กี่ปี ผู้คนก็เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว ทางวัดจึงสร้างสภาธรรมกายสากลและมหารัตนวิหารคดขึ้นเพื่อรองรับ การสร้างอาคารสถานที่ต่างๆในวัดพระธรรมกาย จึงเป็นการสร้างตามความจำเป็นในการใช้งาน โดยยึดหลัก “ประหยัดสุด ประโยชน์สูง และคงทนถาวร”

ในขณะที่กล้าไม้และเสาเข็มแต่ละต้นหยั่งลงในผืนดิน ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถูกปลูกฝังลงในใจของมหาชนควบคู่กันไป ตามแนวคิด “สร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดี”

จากไร้ที่ดิน...กลายมาเป็นผืนดินอันกว้างใหญ่

จากผืนนาที่แห้งแล้งว่างเปล่า...กลายเป็นพุทธสถานที่สง่างาม

จากพระภิกษุ 1 รูป...กลายเป็นหลักสิบ หลักร้อย หลักพัน... และจะเพิ่มมากขึ้น

จากสาธุชนจำนวนร้อย...กลายเป็นจำนวนพัน หมื่น แสน และจำนวนล้านในอนาคต

ฯลฯ

ทุกอณูของผืนดิน ทุกสิ่งก่อสร้าง ทุกกิจกรรมงานบุญ และทุกสิ่งดีๆที่เกิดขึ้นในวัดแห่งนี้ ไม่ใช่ผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่เป็นผลงานของคณะพระภิกษุ สามเณร และสาธุชนทุกยุคทุกสมัย ที่ฟันฝ่ามรสุมน้อยใหญ่ร่วมกันมาครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหมู่คณะยุคบุกเบิกที่ต้องอาศัยความศรัทธา ความมานะบากบั่น และความอดทนอย่างแรงกล้า จึงสามารถทำให้ภาพแห่งความฝันที่จะสร้างวัดให้ได้สักแห่งหนึ่ง กลายมาเป็นความจริงที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมดังเช่นปัจจุบัน

ประวัติโดยสังเขป

วัดพระธรรมกาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 สังกัดมหานิกายแห่งคณะสงฆ์ไทย ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบัน มี พระครูสังฆรักษ์รังสฤษดิ์ อิทฺธิจินฺตโก ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส (รับตราตั้งเป็นเจ้าอาวาสจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2560)

  • วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2520 – ประกาศเป็นวัดตามกฎหมายโดยกระทรวงศึกษาธิการ ในชื่อ “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดวรณีธรรมกายาราม” และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระธรรมกาย”
  • วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2552 – ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  • วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 – ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15

มูลนิธิธรรมกาย

มูลนิธิธรรมกาย จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เดิมใช้ชื่อว่า “มูลนิธิธรรมประสิทธิ์” โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ณ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2513 เมื่อสร้างวัดพระธรรมกายเสร็จ ได้ขอแก้ไขเอกสาร เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิพระธรรมกาย” เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2525 ณ ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี และเพื่อไม่ให้สับสนกับชื่อวัด จึงจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อจาก “มูลนิธิพระธรรมกาย” เป็น “มูลนิธิธรรมกาย” โดยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ตามหนังสือที่ ศธ 1304/6088 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2528 ปัจจุบัน มี พระวิเทศธรรมาภรณ์ (บัณฑิต วรปญฺโญ ,ดร.) ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิ

แผนที่แสดงที่ตั้ง วัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี


ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น

ศาสนสถานในวัดพระธรรมกาย

บทความอื่นๆในหมวดนี้