คุณยาย คือ ใคร :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

คุณยาย คือ ใคร

คุณยาย คือ ใคร

คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

บทความโดย: มธุระพจน์

ต้องยอมรับว่ากว่าจะเขียนบทความนี้ได้ ผู้เขียนใช้เวลานานมาก มิใช่เพราะว่ายาก มิใช่เพราะว่าลำบาก แต่ใครก็ตามที่เคยได้อยู่ใกล้คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ไม่ว่าจะในฐานะใดย่อมทราบดีว่า การจะนำความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อคุณยาย หรือนำเรื่องราวของคุณยายมาเขียนให้ครบถ้วนนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และไม่สามารถทำได้ด้วยตัวหนังสือเพียงหนึ่งคอลัมน์ หรือแม้จะเป็นหนึ่งเล่มก็ตาม เพราะคุณยายประกอบคุณงามความดีสร้างงานมากมาย อุทิศถวายพระพุทธศาสนาด้วยวิชชาธรรมกายที่พระเดชพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จันทสโร) ค้นกลับคืนมาได้ ด้วยเวลาแทบทั้งชีวิตของคุณยาย โดยไม่มีใครเคยได้ยินคำบ่นว่าเหนื่อยหรือเบื่อที่จะทำงานที่เรียกว่า "สร้างบารมี" เลยแม้สักครั้ง...สักคำ

ณ ที่นี้ สำหรับตัวผู้เขียนขออนุญาตเขียนความรู้สึกของตัวเองในฐานะของ "ครู" ผู้มีคุณยายเป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบอย่างที่เรียกว่าหยั่งลึกอยู่ในมโนสำนึก อยู่ในความรู้สึกของความเป็นครู เพราะคุณยายทั้งสอนทั้งสั่งทั้งเป็นตัวอย่างให้เห็นด้วยทุกๆ วินาทีของยาย คือ คุณยายใช้ทุกๆ วินาทีของชีวิตเป็นแบบอย่าง เป็นตัวอย่างให้เห็น ให้ได้ยิน ให้ได้ฟัง แทนการสั่งสอนด้วยการว่ากล่าว จนสามารถกล่าวได้ว่าทุกอย่างที่คุณยายสอนให้เติบโตจนเป็นกระทั่งสามารถเป็น "ครู" ได้นั้น คุณยายมิได้ใช้และมิได้อาศัยหลักเกณฑ์ด้านวิชาการทางโลกแขนงใดเลย

สำหรับตัวผู้เขียนเอง คุณยาย คือ "ครูวิชชาธรรมกาย" ผู้ให้ทุกอย่าง เมื่อยายทราบว่า วิชชาธรรมกาย คือหนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำผู้คนทั้งหลายเข้าใกล้พระพุทธเจ้า นำผู้คนทั้งปวงรอดพ้นจากเงามืดของพญามาร ที่แผ่ครอบห่อคลุมหุ้มห้วงเหวแห่งวัฏสังสารไว้ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะเกิดเป็นยาจกหรือเศรษฐี ผู้มีฐานันดรหรือคนจรจัด ผู้เป็นนักปราชญ์หรือคนขัดรองเท้า ทุกคนไม่ว่าใครไม่เคยพ้นจากการเวียนว่ายอยู่ในความผันแปรของทุกข์ ทุกคนต้องเจ็บต้องหิว ต้องแก่ชราและต้องตายเหมือนกันหมด

ครั้งเมื่อคุณยายได้เรียนรู้ชัดแจ้งจากพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร)ว่า หนทางสายกลางที่เริ่มต้นตรงกึ่งกลางร่างกายของมนุษย์ทุกคนนั่นแหละ คือทางหนีพ้นทุกข์ได้ มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ "ใจ" ว่า นำไปหยุดตรงกลางตัวได้ดีเพียงใด แต่ถ้านำไปวางไว้ได้ละก็ โอกาสจะพ้นทุกข์ พบสุข พบความสำเร็จมากขึ้นย่อมเป็นไปได้ เป็นวิชชาที่เรียนแล้ว ได้แล้ว เข้าใจแล้วไม่รู้ลืม สามารถเรียนต่อได้ในภพชาติต่อๆ ไป ถ้ามนุษย์ผู้นั้น คนๆ นั้นละโลกละขันธ์นี้ไปด้วยใจที่จรดนิ่งกลางตัว เมื่อเกิดใหม่ธรรมในตัวจะผลักดันให้มนุษย์คนนั้นดั้นเดินเข้าไปสู่ธรรมะที่ละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุดที่สุดแห่งทุกข์ คือเข้าถึงธรรม ตรัสรู้ธรรมเป็นโพธิสัตว์ เป็นพระอรหันต์ เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปในที่สุด

เมื่อคุณยายทราบเช่นนั้น ความเป็นครูของยาย ความรักที่ยายมีต่อมนุษย์ต่อลูกหลาน ทำให้ยายสรรค์สร้างทุกสิ่งที่จะทำให้การเรียนวิชชาธรรมกาย การสอนสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย การสร้างความดี การสร้างบารมีด้วยการช่วยเหลือคนของลูกหลานรุ่นต่อไปเป็นไปได้โดยง่าย เป็นไปอย่างสะดวกสบาย ซึ่งจะพูดให้ชัดๆ ก็คือ คุณยายเป็นครูที่ออกทุนหาทุนสร้างโรงเรียนเอง สอนคนที่จะเป็นครูเอง หาอาหารมาเลี้ยงทุกคนในโรงเรียนเอง บริหารงานเอง และเป็นทุกๆ อย่างเอง แม้กระทั่งภารโรง ยายเสียสละทุกอย่างทำงานหนัก จนถึงกับเป็นโรคขาดอาหารในช่วงต้นของการสร้างวัดพระธรรมกาย เพราะความเหนื่อยสาหัส และต้องประหยัดไปพร้อมๆ กัน ความจริงตรงนี้นี่เอง ที่ทำให้ผู้เขียนมีกำลังใจในการทำงานในการเป็นครูอยู่ตลอดเวลา เพราะอย่างไรเสียเราก็ไม่เหนื่อยเท่ายาย

สิ่งสำคัญที่สุดของคุณยายที่อยู่ในสำนึกของผู้เขียนตลอดเวลา คือ การเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ความเป็นผู้ทนได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นคำสรรเสริญ เป็นอามิสลาภยศ เป็นถ้อยคำติฉินนินทาและความเข้าใจผิดๆ ของผู้ไม่รู้เท่าทันทั้งหลาย คุณยายจะพูดเสมอว่า "เขาไม่รู้น่ะ เขาไม่รู้น่ะ" กับ "มาได้บุญกับยายนะ มาเอาบุญกับยายนะ" เพราะคุณยายจะพูดเสมอว่า "อยากจะเป็นครูเขา อยากจะสอนเขา เอาแต่ใจไม่ได้" คำพูดนี้นานหนักหนาแล้ว คุณยายพูดประหนึ่งว่า กำลังพูดกับตัวเอง หรือกำลังสอนตัวยายเอง เพียงแต่คุณยายพูดดังๆ ให้ผู้เขียนได้ยินด้วย ทั้งๆ ที่ขณะนั้นวัดพึ่งสร้างใหม่ๆ ใครจะเติบโตเป็นใครยังไม่ทราบ

หรือครั้งหนึ่งเมื่อคุณยายปลูกต้นไม้ด้วยมือเล็กๆ ของยายเองที่ลานอโศกหน้าวัด โดยมีผู้เขียนอยู่ใกล้ๆ ยายก็พูดกับต้นไม้ต้นน้อยๆ นั้นว่า "เอ้า...ยายปลูก ยายเตรียมดินให้ดีแล้ว ยายหาให้พร้อมแล้วนะ แข็งแรงแล้วก็โตไวๆ จะได้เป็นร่มให้คนอื่นเขา" และโดยเฉพาะเวลารับประทานอาหาร คุณยายไม่ชอบให้มีเสียงดัง ไม่ว่าจะเป็นขณะรับประทานหรือขณะล้างจาน เพราะยายบอกว่า "มือทำหยาบอย่างไร ใจก็หยาบอย่างนั้น ใจสงบมือก็เบา เสียงก็เงียบ เราเป็นคนธรรมะจะเสียงดังไม่ได้" หรือเวลาที่เราจะต้องออกไปบอกบุญกัน ซึ่งในระยะนั้นมีผู้ทำหน้าที่นี้กันอยู่ไม่กี่คน และบังเอิญผู้เขียนโชคดีมีโอกาสได้ทำหน้าที่นี้ในระยะเริ่มต้น หลังจากทานข้าวกลางวันกันแล้วจะออกเดินทางจากวัด คุณยายมักจะพูดว่า "คุณ ไปไหนให้นึกว่า เราเป็นคนของหลวงพ่อท่าน (หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สด จนฺทสโร) เป็นคนเข้าธรรมะอย่าให้ใครเขาตำหนิได้"

แต่สิ่งที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของคุณยาย คือ ความสะอาดและความตรงต่อเวลา เป็นสิ่งที่ลูกหลานยายทุกคนที่รักและเคารพยายจริง ต่างได้รับเป็นมรดกตกทอดเสมอหน้ากันทุกคน เพราะคุณยายถือว่าความสะอาดรอบตัวจะทำให้ใจสงบได้ตลอดเวลา และคุณยายมักพูดว่า "บ้านเรา วัดเรา ต้องสะอาด ใครเขามาเห็นจะได้เอาเป็นตัวอย่าง คนธรรมะจะสกปรกไม่ได้เด็ดขาด"

ส่วนเรื่องของความตรงต่อเวลานั้นคุณยายยอดเยี่ยม เพราะคุณยายท่านเล่าว่า สมัยทำงานทำวิชชากับหลวงพ่อท่าน (หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ) จะมาร่ำไรชักช้าไม่ได้ เวลาทุกขณะมีความหมาย ซึ่งจะเห็นชัดตรงที่พอถึงเวลาหกโมงเย็น คุณยายจะปิดประตูวัดทันที (ประตูด้านหน้าโบสถ์ สมัยก่อนเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว วัดพระธรรมกายมีเพียงประตูเดียวเท่านั้น) โดยจะเตือนว่า "คุณกลับบ้านได้แล้ว ยายจะปิดประตู" พลบค่ำแล้วคุณยายจะไม่ยอมให้ผู้หญิงโอ้เอ้อยู่ในวัด (สมัยก่อนยังเป็นศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม) คุณยายถือว่า ไม่สมควร ไม่น่าดู เหตุนี้เองที่ทำให้ลูกหลานคุณยายมีความเข้าใจในความควรไม่ควร มีความเคารพพระภิกษุสงฆ์เป็นอย่างมาก เพราะคุณยายจะทำตัวอย่างให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ในเวลาที่คุณยายพูดคุยกับพระภิกษุสงฆ์ คุณยายท่านจะประนมมือพูดด้วยตลอดเวลา แม้พระองค์นั้นจะเคยเป็นอุบาสกที่คุณยายเลี้ยงดูมาก่อนก็ตาม และด้วยความเคารพที่คุณยายทำเห็นเป็นตัวอย่างนี่เอง ที่ทำให้ผู้เขียน และลูกหลานยายทุกคนมีความเคารพพระภิกษุสงฆ์อย่างจริงใจ เพราะเข้าใจในความยากของความเป็นพระภิกษุสงฆ์ เข้าใจในศีลที่มีมากกว่า เข้าใจในความเสียสละและความเข้มแข็ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ความเคารพเช่นนี้มีอยู่ในสายเลือดของลูกหลานยาย ลูกศิษย์วัดพระธรรมกายทุกคนอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับผู้เขียน ดังที่กล่าวแล้วตั้งแต่ต้นว่าอย่างไรเสียก็มิอาจนำอักขระมาเขียนพรรณนาถึงพระคุณยายได้หมด และไม่อาจนำสิ่งใดมาทดแทนพระคุณอันยิ่งใหญ่ของคุณยายได้ นอกจากจะกล่าวยืนยันได้ว่า คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คือตัวอย่างแบบอย่างของความเป็นครูผู้ไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากความสุข ความสำเร็จของลูกศิษย์ ครูผู้อดทน ครูผู้พร้อมให้ ครูผู้รักวิชชาธรรมกายยิ่งชีวิต และสำคัญที่สุดคุณยายคือครูผู้วางรากฐานของดวงใจอันเข้มแข็งไว้ให้ เพราะคุณยายสอนเสมอว่า "น้ำตาไม่เคยช่วยใคร น้ำตาไม่ใช่ของเรา" และคุณยายยังย้ำว่าวิชชาธรรมกายเป็นสิ่งเดียวที่จะต้องสั่งสอนต่อไปให้กับคนทั้งโลก สอนเขาเท่าที่เขาจะรับได้ ค่อยๆ สอนให้เขาเข้าใจ แต่จะหยุดการสอนไม่ได้แม้แต่หนึ่งวินาที ถ้าทำด้วยหยาบไม่ได้ ก็เอาใจทำไปให้รุดหน้าไปเรื่อยๆ และนี่คือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้ความเป็น "ครู" ทำให้สำนึกแห่งความเป็นครูเกิดขึ้นได้ท่วมท้นทั้งชีวิตจิตใจ เพราะวิชชาธรรมกายคือวิชชาเดียวเท่านั้น ที่มนุษย์ควรถูกสอนให้เข้าใจให้รู้จัก เพื่อให้ชีวิตพ้นจากปลักทุกข์ของโลกได้ ทุกวันนี้วิชาการของโลกไม่เคยพาโลกให้พ้นภัยได้จริง แล้วทำไมไม่หันมาสนใจวิชชาธรรมกาย วิชชาแห่งความสว่างของพระสัทธรรมอันยิ่งใหญ่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทิ้งไว้ให้โลกได้ใช้เป็นหนทางปลอดภัยของชีวิต

คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คือ ผู้วางรากฐานการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาไว้ให้ ลูกหลานยายจงเร่งทำหน้าที่ให้ดีเยี่ยมกันต่อไปเพื่อโลกจะได้สดใสไพบูลย์

บทความที่เกี่ยวข้อง: