กฐินธรรมชัย พ.ศ.2554 ณ วัดพระธรรมกาย :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

กฐินธรรมชัย พ.ศ.2554 ณ วัดพระธรรมกาย

"กฐิน" มหากาลทาน ที่ชาวพุทธได้ถือปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งเทศกาลกฐินของวัดพระธรรมกาย ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการร่วมแรง ร่วมใจ ของกัลยาณมิตร จากทั่วทุกมุมโลก เพื่อแสดงพลังศรัทธาที่จะปกป้อง ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เข้มแข็ง อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยสืบต่อไป

 

 

หากแต่กฐินในปีนี้ ได้เกิดความแตกต่างจากกฐินทุกๆปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบกับมหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ซึ่งอุทกภัยครั้งนี้ได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้คนในวงกว้าง มวลน้ำจำนวนมหาศาลได้ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ในหลายจังหวัด ถนนสายหลักหลายสายไม่สามารถใช้การได้ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงมาก ถนนบางสายน้ำท่วมสูงกว่า 60 เซนติเมตร บ้านเรือน ร้านค้า ไปจนถึงโรงงานต่างๆ นิคมอุตสาหกรรมหลายต่อหลายแห่ง ต้องจมอยู่ในน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัดพระธรรมกายซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ก็ตกอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้เช่นกัน สมาชิกของวัดพระธรรมกาย ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พนักงาน และสาธุชนผู้มีจิตอาสา ภายใต้การนำของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ได้ร่วมแรงร่วมใจกับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลคลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม และหน่วยงานราชการ ช่วยกันป้องกันทำนบกั้นน้ำคลองระพีพัฒน์ ตั้งแต่คลองหนึ่งถึงคลองสาม ความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร อย่างเต็มที่เต็มกำลัง พร้อมเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลทำให้วัดพระธรรมกาย และพี่น้องประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ข้างเคียงโดยรอบ พอที่จะต่อสู้กับมวลน้ำจำนวนมหาศาลนี้ได้ นอกจากนี้ วัดพระธรรมกาย และมูลนิธิธรรมกาย ยังได้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ต่างๆ ด้วยการจัดส่งอาหารพร้อมรับประทาน ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค รวมไปถึงการจัดส่งบิ๊กแบ็ก (Big Bag) หรือถุงทรายขนาดยักษ์ ให้แก่หน่วยงานราชการ เพื่อนำไปใช้กู้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้

หากจะถามว่า “ทำไม ต้องจัดงานทอดกฐินภายใต้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นนี้” คำตอบ คือ ตามพระบรมพุทธานุญาตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การทอดกฐินทำได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง และยังถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลา กล่าวคือ จะต้องทำภายใน 1 เดือนนับจากวันออกพรรษา (ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) ระยะเวลานี้เรียกว่า “กฐินกาล” หากพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวนี้ไป ก็ถือว่าวัดนั้นๆหมดโอกาสในการทอดกฐินในปีนั้น และเนื่องจากเป็นพุทธานุญาต เงื่อนเวลาในการทอดกฐินจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งในทางธรรมเนียมปฏิบัติในการทอดกฐิน นอกจากพุทธศาสนิกชนจะถวายผ้ากฐินซึ่งถือเป็นองค์กฐินแล้ว จะมีการรวบรวมปัจจัยเพื่อถวายเป็นบริวารกฐินควบคู่ไปด้วย ซึ่งปัจจัยนี้ทางวัดก็จะนำไปพัฒนาวัด ซ่อมแซมศาสนสถาน สร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ รวมไปถึงใช้ในกิจการเพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ดังนั้น หากวัดใดหมดโอกาสในการจัดงานทอดกฐิน ก็เท่ากับว่าวัดนั้นหมดโอกาสที่จะได้งบประมาณที่จะนำมาพัฒนาวัด หากวัดใดเสียโอกาสในการทอดกฐินติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี ก็อาจจะทำให้วัดนั้นกลายเป็นวัดร้างไปในที่สุด ประเพณีการทอดกฐินจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ชาวพุทธทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาไว้ เพราะเท่ากับว่าได้ช่วยกันรักษาอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวออกไป และค้ำจุนให้พระพุทธศาสนามีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เนื่องจากเห็นความสำคัญของการทอดกฐินดังที่กล่าวมาแล้ว จึงทำให้ในวันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2554 ที่ผ่านมา สาธุชนนับแสนคนจากทั่วทุกสารทิศทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ต่างพากันเดินทางฝ่ามวลน้ำที่ท่วมขังในหลายพื้นที่ บางคนต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีสองตีสาม บางคนเดินทางมาถึงวัดก่อนวันงานทอดกฐิน เพราะกลัวจะพลาดบุญใหญ่ หลายคนต้องลุยน้ำที่มีระดับสูงถึงหน้าอก หลายคนต้องเดินทางด้วยพาหนะหลายต่อหลายประเภท ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่ รถกระบะ รถบัส รถสิบล้อ รถบรรทุกของทหาร แม้กระทั่งเรือ กว่าจะมาถึงวัดพระธรรมกายให้ทันพิธีทอดกฐิน แต่ทุกคนล้วนมีรอยยิ้มด้วยความปลื้มปีติในบุญ ทุกคนต่างภาคภูมิใจที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคมาได้ สภาวะน้ำท่วมไม่ได้เป็นเครื่องกีดขวางการสร้างมหาทานบารมีเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาของพวกเขาเหล่านั้นแต่อย่างใด

วันแห่งมหากาลทาน เริ่มขึ้นด้วยพิธีตักบาตรพระตั้งแต่เวลา 6.00 น. ในเวลา 9.00 น. สาธุชนปฏิบัติธรรมร่วมกัน ต่อด้วยพิธีบูชาข้าวพระ ซึ่งวัดพระธรรมกายจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน ติดต่อกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาเป็นเวลาหลายสิบปี ปิดท้ายกิจกรรมในภาคเช้าด้วยการถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน

พิธีทอดกฐินเริ่มขึ้นในภาคบ่าย เวลา 13.30 น. ขบวนอัญเชิญผ้าไตรเคลื่อนเข้าสู่สภาธรรมกายสากล นำโดย คณะประธานกฐินธรรมชัยในปีนี้ ได้แก่ กัลฯผกามาศ อาจารีย์, กัลฯพวงเพ็ญ ทิสยากร, กัลฯพิศมัย แสงหิรัญ และ กัลฯรัตนา ตันกิม พร้อมด้วยขบวนเจ้าภาพผู้มีบุญจำนวนมาก ทุกคนถือผ้าไตรด้วยความปลื้มปีติในมหากาลทานที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในครั้งนี้

ปิดท้ายขบวนอัญเชิญผ้าไตรด้วยผู้แต่งกายเป็นมหาอุบาสิกาวิสาขา ในชุดมหาลดาประสาธน์ กัลฯนาตาลี เจอดี้ ฉิมบ้านไร่ จากเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลูกครึ่งไทย-สวิส ผู้มีคติประจำใจว่า “สตรีแม้มีความงามทางกาย แต่ไร้ศีลก็สิ้นสวย” พิธีทอดกฐินธรรมชัย พ.ศ.2554 เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 16.00 น.

แม้กฐินธรรมชัยจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ความปลื้มปีติยังคงอยู่ในใจของทุกคน นับตั้งแต่เจ้าภาพผู้มีบุญ สาธุชนผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ไปจนถึงบรรดาเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดงานในครั้งนี้ นอกเหนือไปจากอานิสงส์แห่งบุญกฐินที่ทุกคนจะได้รับอย่างจะนับจะประมาณมิได้แล้ว ทุกคนยังได้ความภาคภูมิใจในตนเองที่สามารถฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการมาได้ ทุกคนได้ทำหน้าที่สำคัญของชาวพุทธในการรักษาประเพณีอันดีงามของพระพุทธศาสนา มหาอุทกภัยในครั้งนี้ไม่ได้เป็นเครื่องกีดขวางการสร้างบารมีของทุกคนแต่อย่างใด หากชาวพุทธทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันด้วยความมุ่งมั่นเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจะคงอยู่เป็นแสงสว่างนำทางชีวิตให้แก่ชาวโลกไปอีกตราบนานเท่านาน

บทความอื่นๆในหมวดนี้