บวชในช่วงเข้าพรรษา ดีอย่างไร :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

บวชในช่วงเข้าพรรษา ดีอย่างไร

บวชในช่วงเข้าพรรษา ดีอย่างไร

ความจริงแล้ว การบวชในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะบวชในฤดูกาลไหน หรือจะบวชช่วงสั้น – ช่วงยาว แค่ไหนก็ตาม มีวัตถุประสงค์ในการบวชเหมือนกัน คือ มุ่งที่จะกำจัดทุกข์ให้หมดไป แล้วทำพระนิพพานให้แจ้ง หรือพูดกันภาษาชาวบ้านว่า “มุ่งกำจัดกิเลสเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน” จะได้ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดกัน อีกอย่างไรก็ตาม เมื่อบวชแล้วถ้าได้ตั้งใจอย่างนี้ ทำตามวัตถุประสงค์ของการบวชอย่างนี้เต็มที่ ไม่ว่าบวชฤดูกาลไหนก็ได้บุญเท่าๆกันทั้งนั้น อันนี้โดยหลักการ แต่ในความเป็นจริง เนื่องจากผู้บวชยังเป็นผู้ที่เข้ามาสู่ศาสนากันใหม่ๆ และยังต้องการสภาพที่เหมาะสมพิเศษๆในการที่จะศึกษาธรรมะ, ในการที่จะขัดเกลาตนเองตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าได้บรรยากาศพิเศษๆ ก็จะช่วยให้การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบวชนั้นง่ายขึ้นและดีขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราจึงได้เลือกแล้วว่า ฤดูเข้าพรรษาเป็นบรรยากาศพิเศษ เหมาะที่จะให้ลูกหลานของตนเข้ามาบวช

นับแต่สมัยปู่ย่าตาทวดของเรา นิยมให้บุตรหลานบวชเรียน ในช่วงเข้าพรรษา

ความพิเศษสำหรับการบวชในช่วงเข้าพรรษา

1. ดินฟ้าอากาศเป็นใจ กล่าวคือ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยของเรานั้น ในฤดูร้อน สภาพอากาศร้อนเหลือหลาย ร้อนจนกระทั่งแม้ในทางโลก เด็กนักเรียนยังปิดเทอมกันภาคฤดูร้อน เนื่องจากในฤดูนี้ เรียนกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อากาศมันร้อนหนัก ในทางธรรมก็เช่นกัน ถ้าจะให้พระใหม่มาเรียนหนังสือในฤดูร้อนคงย่ำแย่ ส่วนในฤดูหนาวก็เป็นในทำนองเดียวกัน คงจำกันได้ว่า สมัยเราเป็นเด็กๆไปโรงเรียนกันในฤดูหนาว ก็ยังต้องไปนั่งผิงไฟกันด้วยซ้ำ ไปนั่งงอก่องอขิงกัน บรรยากาศในการเรียนมันหย่อนๆไปเหมือนกัน ร้อนไปก็ไม่ดี หนาวไปก็ไม่ดี ฤดูที่ไม่หนาวไม่ร้อนจนเกินไป เห็นมีอยู่ฤดูเดียวสำหรับประเทศไทย คือ ฤดูฝน หรือ ฤดูเข้าพรรษา ดินฟ้าอากาศเหมาะแก่การศึกษาธรรมะ และการค้นคว้าธรรมะให้ยิ่งๆขึ้นไป

2. ครูบาอาจารย์พร้อม เนื่องจากพระภิกษุที่เป็นครูบาอาจารย์ ท่านถูกพระวินัยกำหนดแล้วว่า ห้ามไปไหน ต้องพักค้างอยู่ในวัดตลอดพรรษา ดังนั้น ครูบาอาจารย์จึงพร้อมหน้าพร้อมตามากที่สุดในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นถ้าใครมาเป็นลูกศิษย์ก็จะได้พบหน้าพระที่เป็นครูบาอาจารย์ทุกองค์ โอกาสที่จะได้รับการถ่ายทอดธรรมะจึงเต็มที่มากกว่าฤดูอื่น

ในช่วงเข้าพรรษา พระใหม่มีโอกาสศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่

3. เราถือเป็นค่านิยมกันแล้วว่า พระใหม่ควรจะบวชในฤดูเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นต้องถือว่าฤดูนี้ ลูกศิษย์ คือ พระใหม่ ก็พร้อมหน้าเช่นกัน เมื่อเป็นอย่างนี้ ความคึกคักในการเรียนก็เกิดขึ้น

4. เมื่อลูกหลานมาบวช ญาติโยมเองก็เกิดความคึกคักเหมือนกันที่จะมาฟังเทศน์ด้วย กล่าวคือ บรรดาญาติโยมต่างก็พากันมาวัดด้วยความเป็นห่วงพระลูกพระหลานของตน เท่านั้นยังไม่พอ ยังนำข้าวปลาอาหารมาทำบุญมาเลี้ยงพระลูกพระหลาน แล้วก็เลยเลี้ยงกันไปทั้งวัดอีกด้วย อีกทั้งเมื่อถวายภัตตาหารแล้ว ถึงอย่างไรก็ต้องไปกราบพระซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความคุ้นเคยระหว่างพระกับโยมในช่วงเข้าพรรษาก็มีมากขึ้น ญาติโยมจึงมีโอกาสที่จะได้ฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมๆกันไปด้วย พระลูกพระหลานก็เข้าห้องเรียนศึกษาธรรมะ โยมพ่อโยมแม่ก็ฟังเทศน์ในศาลา

ในช่วงเข้าพรรษา บรรดาญาติโยมจะพากันไปวัด ทำบุญกับพระลูกพระหลาน

เมื่อบรรยากาศแห่งความสมบูรณ์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมมาพร้อมกันถึง 4 ประการ เช่นนี้ ฤดูเข้าพรรษาจึงนับว่าเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเข้ามาบวชอย่างยิ่ง จึงเป็นธรรมเนียมกันมาทุกวันนี้ว่า บวชเข้าพรรษานั้น น่าบวชที่สุด เพราะว่าผู้บวชมีโอกาสได้บุญมากที่สุด กล่าวคือ ได้ศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่, มีโอกาสที่จะโปรดโยมพ่อโยมแม่มากที่สุด เพราะถึงแม้ตัวเองเป็นพระใหม่ยังเทศน์ไม่ได้ แต่พระอาจารย์ในวัดก็จะช่วยเทศน์ให้ ทุกอย่างสมบูรณ์พูนสุขจริงๆ บวชเข้าพรรษาจึงมีทีท่าว่าได้บุญมากกว่าฤดูอื่น ด้วยประการฉะนี้

อ้างอิง:

  • เรียบเรียงจาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา (ออกอากาศทาง DMC)
  • พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อทัตตชีโว

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้