World Peace Ethics Contest (World-PEC) :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

World Peace Ethics Contest (World-PEC)

โครงการ World-PEC “สันติภาพ” เป็นสิ่งที่ชาวโลกทุกคนล้วนปรารถนา แต่ประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีวิธีการใดที่จะทำให้สันติภาพโลกเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างสันติภาพโลก ด้วยการเผยแผ่ธรรมะ เพราะตระหนักว่า การสร้างสันติภาพต้องเริ่มต้นด้วยการแก้ไขจิตใจมนุษย์ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะตราบใดที่ใจของมนุษย์ยังคงถูกครอบงำด้วยกิเลส ตราบนั้นความขัดแย้งและสงครามก็จะยังคงอยู่คู่โลกใบนี้ต่อไป และพร้อมที่จะปะทุขึ้นตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เอง ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา นอกจากวัดพระธรรมกายจะได้สอนและเผยแผ่การเจริญสมาธิภาวนาแล้ว ยังได้มีการปลูกฝังศีลธรรมให้แก่ประชาชนทุกเพศทุกวัยจากทุกชนชั้น เพราะธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยบรรเทากิเลสในจิตใจคนให้เบาบางลงได้ และเมื่อเติมศีลธรรมเข้าไปในดวงใจของทุกคน ความขัดแย้งและการเบียดเบียนกันก็จะมลายหายไปด้วย การตอบปัญหาธรรมะนั้น เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน จากความพยายามของวัดพระธรรมกายในการจัดโครงการตอบปัญหาธรรมะ “ทางก้าวหน้า” ในหมู่เยาวชนไทยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งทำให้เยาวชนเกิดความตื่นตัวในการศึกษาธรรมะกันมากขึ้น และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกระทั่งองค์การ UNESCO ได้คัดเลือกให้นำเสนอโครงการในที่ประชุม “อนาคตเยาวชนของเรา” ณ มหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2543 พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) จึงมีดำริที่จะขยายระบบการศึกษาธรรมะ พร้อมด้วยการสอบวัดผลนี้ไปสู่ผู้สนใจในทุกระดับชั้น ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนาและเผ่าพันธุ์ จึงได้เกิดโครงการสอบตอบปัญหาศีลธรรมเพื่อสันติภาพโลก หรือ World-Peace Ethics Contest (World-PEC) การสอบตอบปัญหาศีลธรรมเพื่อสันติภาพโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 โดยหนังสือที่ใช้ในการสอบนั้นมีชื่อว่า “ครอบครัวอบอุ่น” ซึ่งได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 5 ภาษา ได้แก่ ญี่ปุ่น อังกฤษ จีน ลาว และไทย และในครั้งที่ 3 ใช้หนังสือชื่อว่า “ศรัทธา รุ่งอรุณแห่งสันติภาพโลก” ในการสอบครั้งต่อมา ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ เพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เช่น ภาษาอินโดนีเซีย มาเลเซีย เสปน โปรตุเกส และอาหรับ รวมเป็น 10 ภาษา ซึ่งเนื้อหาของหนังสือนั้นอ่านเข้าใจง่าย เหมาะสมกับทุกคนในครอบครัว และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง โดยผู้ชนะเลิศรางวัลการแข่งขัน จะได้รับรางวัลคือ โล่วัชรเกียรติยศ ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล มีพิธีมอบรางวัลอย่างสมเกียรติ ณ วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี การจัดสอบตอบปัญหาธรรมะเพื่อสันติภาพโลกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ทุกคนสามารถศึกษาธรรมะได้ โดยไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิการศึกษา อาชีพ หรือเชื้อชาติ เพราะไม่เพียงแต่ชาวไทยเท่านั้นที่หันมาศึกษาธรรมะมากขึ้น แต่ยังรวมไปถึงชาวต่างประเทศ รวมแล้วมีผู้เข้าสมัครนับหมื่นคน จาก 6 ทวีป รวม 72 เชื้อชาติ นอกจากนี้ยังได้ขยายโครงการเป็น World-PEC for Monk เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนในการสอบ และ World-PEC ภาคภาษาอังกฤษและภาษาจีนสำหรับเยาวชนนานาชาติอีกด้วย

บทความอื่นๆในหมวดนี้