โครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

โครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา

ด้วยมโนปณิธานอันแน่วแน่ของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ที่มีความตั้งใจจะเชิญชวนพุทธบริษัท 4 มาร่วมกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และศีลธรรมให้เข้มแข็งในสังคมไทย ทางวัดพระธรรมกาย และมูลนิธิธรรมกายจึงได้จัดโครงการดังต่อไปนี้

ตักบาตรพระ 1 ล้าน รูป 76 จังหวัด ทุกวัดทั่วไทย

โครงการตักบาตรพระ 1 ล้าน รูป 76 จังหวัด ทุกวัดทั่วไทยจัดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาประเพณีอันดีงามของชาวพุทธ และเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพระพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับการทำบุญตักบาตร ตราบนั้นพระพุทธศาสนาและศาสนทายาท คือพระภิกษุสามเณรก็จะสามารถดำรงอยู่ได้ โครงการจัดตักบาตรพระ 1 ล้าน รูป 76 จังหวัด ทุกวัดทั่วไทย เริ่มต้นจากโครงการจัดตักบาตรพระ 500,000 รูป 76 จังหวัด ทุกวัดทั่วไทย โดยจัดครั้งแรกที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2551 และได้จัดต่อเนื่องทั้ง 76 จังหวัด ทั่วประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจเร่งด่วนของพุทธบริษัท 4 เป็นหน้าที่ของชาวพุทธทั้งหลายที่จะได้มาร่วมมือกันดำเนินกิจกรรม จนกว่าจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งเอาไว้ คือการฟื้นฟูศีลธรรมของผู้คนในสังคม และการรวมพลังของชาวพุทธทั่วประเทศ เพื่อช่วยกันปกป้องและทำนุบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยตลอดไป ผลจากการดำเนินโครงการจัดตักบาตรฯ นอกจากจะเป็นการช่วยอุปัฏฐากบำรุงพระภิกษุสามเณร ในแต่ละพื้นที่แล้ว ยังได้จัดสรรปัจจัยไทยธรรม ข้าวสารอาหารแห้ง ส่งไปให้ความช่วยเหลือแด่คณะสงฆ์ 286 วัด ภายใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังจัดมอบเป็นกำลังให้กับทหาร ตำรวจ ครู อาจารย์ ที่ทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพระภิกษุสามเณร และประชาชนที่ประสบภัยต่าง ๆ เช่นภัยน้ำท่วมเป็นต้น

ถวายไทยธรรม 286 วัด 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นับเป็นเวลาหลายปีแล้ว ที่เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ได้สร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งรักสงบและไม่ประพฤติเบียดเบียนผู้ใด แต่กลับต้องได้รับบาดเจ็บและมรณภาพจากเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์จึงยากลำบาก เพราะไม่สามารถออกบิณฑบาตและบำเพ็ญสมณกิจได้ตามปกติ อีกทั้งต้องคอยระแวดระวังภัยอยู่แต่ภายในวัด พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้เล็งเห็นถึงปัญญาที่เกิดขึ้น จึงดำริให้มีการจัดงานถวายไทยธรรมแด่ 286 วัด ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับคณะสงฆ์ และสร้างความสมัครสมานสามัคคีในหมู่พุทธบริษัท ไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายอย่างไรก็ตาม ทำให้พุทธบริษัท 4 เป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว โดยกราบอาราธนาเจ้าคณะพระสังฆาธิการและตัวแทนจากทุกวัดมาเป็นเนื้อนาบุญ และเชิญตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ครู อาจารย์ และประชาชน มาบำเพ็ญบุญร่วมกัน การถวายไทยธรรมครั้งแรกนั้นมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2548 และได้จัดต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกเดือนจนถึงปัจจุบัน โดยพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยมีความตั้งใจว่า จะจัดงานเรื่อยไปจนกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะยุติลง ซึ่งการจัดงานแต่ละครั้ง จะหมุนเวียนไปตามสถานที่ต่าง ๆ ภายใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ ทางวัดพระธรรมกาย มูลนิธิธรรมกาย องค์กรภาคี และคณะผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันถวายเครื่องอุปโภค บริโภค รวมทั้งปัจจัยไทยธรรม เพื่อสนับสนุนให้พระภิกษุสงฆ์ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถบำเพ็ญสมณธรรมได้โดยสะดวกพร้อมทั้งอยู่เป็นขวัญและกำลังใจให้กับประชาชนชาวพุทธในพื้นที่ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และประชาชนที่เสียชีวิตเพราะเหตุการณ์ความไม่สงบ พร้อมทั้งมอบเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่ทหาร ตำรวจ ครู และประชาชน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับทุกคนอีกด้วย

กฐินสัมฤทธิ์

โครงการกฐินสัมฤทธิ์เกิดขึ้นจากดำริของพระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ที่มีความปรารถนาที่จะปลูกจิตสำนึกรักพระพุทธศาสนาให้แก่เหล่าเด็กดี V-Star ทั่วประเทศกว่า 500,000 คน ให้ได้รวมพลังกันทอดผ้ากฐินถวายวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อแก้ไขปัญหากฐินตกค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาวัดร้าง และแนวโน้มของการลดจำนวนลงของเหล่าศาสนทายาทในปัจจุบัน นอกจากนี้ การทอดกฐินยังช่วยให้พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาครบไตรมาสได้รับอานิสงส์กฐินตามพุทธานุญาต ซึ่งจะทำให้ท่านได้รับความสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม ทั้งนี้ เด็กดี V-Star ทั่วประเทศได้ช่วยกันเป็นต้นบุญต้นแบบผู้นำฟื้นฟูศีลธรรมโลก ด้วยการรวมพลังเยาวชนทอดกฐินสัมฤทธิ์กันด้วยตนเองถวายวัดต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนหลายร้อยวัด ในปี 2551 ต่อมาในปี 2552 จึงได้มีการเพิ่มจำนวนวัดเป็น 5,000 วัด สำหรับ 5,000 โรงเรียน ทั่วประเทศ เกิดเป็นปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา ที่สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการปลูกฝังเยาวชนให้รัก หวงแหน และรักษาพระพุทธศาสนาอันล้ำค่าให้อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยได้อย่างเข้มแข็ง อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ องค์กรทางสังคม และองค์กรในพระพุทธศาสนา เนื่องจากเด็กดี V-Star ได้ตั้งใจริเริ่มทำบุญใหญ่นี้ด้วยตนเอง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งนี้เพื่อให้ทุกวัดทั่วไทยไร้กฐินตกค้าง โดยมุ่งเน้นวัดที่ยังไม่มีเจ้าภาพจองกฐินก่อนเป็นอันดับแรก นอกจากที่เด็ก ๆ จะได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรเชิญชวน ผู้ปกครอง ญาติมิตร ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไปมาร่วมสมทบทุนกองกฐินแล้ว ในการทอดกฐินสัมฤทธิ์ปี พ.ศ. 2553 พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยยังได้มอบปัจจัยร่วมบุญกับกฐินสัมฤทธิ์ทุกกองของเด็ก ๆ อีกด้วย งานกฐินสัมฤทธิ์ของเด็กดี V-Star เป็นงานที่คิดระดับโลก ทำระดับโลก แต่เริ่มจากระดับล่าง ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากชาวบ้านในชุมชน ต่างมาทำหน้าที่เจ้าของวัด ต้อนรับเด็ก ๆ ด้วยการเตรียมอาหารมาเลี้ยง ช่วยประชาสัมพันธ์ข่าวตามศูนย์กระจายเสียงชุมชน และมาร่วมบุญกับเด็ก ๆ กันอย่างคึกคัก โดยในแต่ละแห่งที่มีการทอดกฐินสัมฤทธิ์นั้น ทางโรงเรียนจะมอบหมายให้เด็กนักเรียนเป็นตัวแทนกล่าวคำทอดกฐิน และทอดผ้ากฐินด้วยตนเอง อีกด้วย จากการจัดโครงการกฐินสัมฤทธิ์นี้ ทำให้เด็ก ๆ เกิดความรักและหวงแหนพระพุทธศาสนา ได้ฝึกฝนการทำหน้าที่กัลยาณมิตร เป็นผู้นำบุญ ทำงานเป็นทีมร่วมกันกับเพื่อนเด็กนักเรียนในโรงเรียนจัดงานทอดกฐินด้วยตนเอง ซึ่งทางโรงเรียนก็ได้ให้การสนับสนุนเด็ก ๆ อย่างเต็มที่ ในด้านชุมชนก็เกิดความตื่นตัวเมื่อได้เห็นเด็ก ๆ ลุกขึ้นมาทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงให้ความร่วมมือในการจัดงานเป็นอย่างดี โดยแต่ละวัดที่เด็ก ๆ ไปทอดกฐิน ก็เตรียมการต้อนรับอย่างอบอุ่น เป็นการประสานงานร่วมกันระหว่าง บ้าน วัด และโรงเรียน อย่างแท้จริง ทำให้ทุกฝ่ายหันมาทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ ทำให้สัมฤทธิผลทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เพราะพระสงฆ์ก็จะได้อานิสงส์จากการรับกฐิน ส่วนฆราวาสก็จะได้อานิสงส์แห่งบุญจากการสร้างมหาทานรบารมีอีกด้วย นี่คือประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา ที่เหล่าเยาวชนของชาติได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานในการทอดกฐินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และยังเป็นการพลิกฟื้นสถานการณ์กฐินตกค้าง วัดร้าง ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้แก่พระพุทธศาสนาในระยะยาวได้อย่างแท้จริง

มุทิตาสักการะพระภิกษุ สามเณร เปรียญธรรม 9 ประโยค

ภาษาบาลีจัดได้ว่าเป็นภาษาที่มีความสำคัญยิ่งต่อพระพุทธศาสนา เพราะเป็นภาษาที่ใช้เก็บรักษาคำสอนดั้งเดิมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า ด้วยเหตุนี้เอง ทางการคณะสงฆ์จึงได้จัดให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณร โดยมีการสอบไล่เพื่อวัดผลความรู้ด้านภาษาบาลีเป็นลำดับขั้น จากบาลีประโยค 1-2, 3 จนถึงประโยค 9 ผู้ที่จบการศึกษาเปรียญธรรม 9 ประโยค ถือได้ว่าเรียนจบขั้นสูงสุดในฝ่ายปริยัติ ทั้งนี้ผู้เรียนต้องอาศัยความวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง เพราะภาษาบาลีเป็นภาษาโบราณที่ไม่มีการใช้สื่อสารโดยทั่วไปในปัจจุบัน อีกทั้งต้องระมัดระวังในเรื่องความแม่นยำ เพราะถ้าหากเกิดความเข้าผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน ก็จะส่งผลต่อความเข้าใจในเนื้อความที่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้เรียนจึงต้องหมั่นเพียรในการทำความเข้าใจและจดจำจนกระทั่งสามารถแปลพระ บาลีได้อย่างถูกต้อง ความสำเร็จของพระภิกษุสามเณรที่สอบผ่านเปรียญธรรม 9 ประโยค ถือเป็นความสำเร็จที่ควรค่าแก่การประกาศมนุษย์และเทวาได้ทราบ เพราะเกิดจากการร่วมแรงใจ กาย และสติปัญญาของทุกฝ่าย ทั้งพระมหาเปรียญ ผู้สอบได้ พระอาจารย์ สำนักเรียน พระเถรานุเถระทุกรูป รวมทั้งทายก ทายิกาผู้ให้การสนับสนุนพระพุทธศาสนา พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้ริเริ่มโครงการมุทิตาสักการะพระภิกษุ สามเณร เปรียญธรรม 9 ประโยคขึ้น เพื่อเป็นการถวายเกียรติ ยกย่อง เชิดชู และแสดงความยินดี ต่อพระภิกษุ สามเณร ผู้สอบผ่านเปรียญธรรม 9 ประโยคทุกรูป โดยพิธีแสดงมุทิตาจิตจะจัดขึ้นปีละครั้ง ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย จ. ปทุมธานี ในการจัดงานแสดงมุทิตาจิต ทางวัดจะกราบนิมนต์พระเถรานุเถระมาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมทั้งเจ้าคณะพระสังฆาธิการ และเจ้าสำนักเรียนต่าง ๆ มาร่วมเป็นสักขีพยาน และกราบนิมนต์พระมหาและสามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยค ที่สอบไล่ได้ในปีนั้น ๆ มาร่วมพิธี โดยมีเหล่ากัลยาณมิตรและสาธุชนนับหมื่นนับแสนร่วมอนุโมทนา พร้อมกันนั้นได้จัดให้มีการถวายผ้าไตรจีวร พัดรอง และปัจจัยไทยธรรม แด่พระภิกษุและสามเณรเปรียญธรรมทุกรูป ทั้งนี้รวมถึงอุบาสิกาที่สอบผ่านบาลีศึกษา 9 ประโยคด้วย นอกจากนี้ ทางวัดพระธรรมกายยังได้จัดให้มีการถวายโล่เกียรติยศพร้อมกองทุนแด่สำนัก เรียนดีเด่นในประเภทต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระบาลียิ่ง ๆ ขึ้นไป การจัดงานมุทติสักการะแต่ละครั้ง มีผลในการสร้างเสริมกำลังใจให้กับพระภิกษุและสามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยคทุกรูป ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานพระศาสนาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับพระภิกษุสามเณรทุกรูปที่กำลังศึกษาพระ บาลี ให้มุ่งมั่นหมั่นเพียรศึกษาจนกระทั่งสอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยคเป็นผลสำเร็จ และยังสร้างความตื่นตัวให้กับวงการคณะสงฆ์โดยรวม ให้มีการเรียนการสอนภาษาบาลีแก่พระภิกษุสามเณรสืบต่อไปตราบนานเท่านาน

มอบพระพุทธรูปประจำครอบครัวแด่ชาวไทยภูเขา

ชาวไทยภูเขา คือ พี่น้องชนเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนยอดดอย โดยดั้งเดิมนั้นพวกเขามีความเชื่อและนับถือ “ผี” หรือดวงวิญญาณบรรพบุรุษ โดยมี “หมอผี” เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ เช่น การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และการเซ่นไหว้ต่าง ๆ การนับถือผีจึงมีอิทธิพลให้การดำเนินชีวิตของชาวไทยภูเขาไม่ประกอบไปด้วยปัญญา ต้องฆ่าสัตว์และต้มเหล้าเซ่นไหว้อยู่เนือง ๆ เมื่อเจ็บป่วยก็รักษาด้วยไสยศาสตร์ ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกหลักสาธารณสุข เมื่อคณะพระธรรมจาริกได้ออกเผยแผ่ธรรมะ นำความรู้ที่ถูกต้องไปแนะนำสั่งสอน ช่วยพัฒนาชีวิตและจิตใจให้กับชาวไทยภูเขา ทำให้ชาวไทยภูเขาได้เรียนรู้พุทธประวัติและกฎแห่งกรรม ทำให้พวกเขาหันมานับถือพระพุทธศาสนากันเป็นจำนวนมาก และทำพิธีตัดผี คือเลิกนับถือผี ในการนี้ คณะพระธรรมจาริกได้จัดพิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะขึ้น ณ อาศรมพระธรรมจาริกบ้านผาปูน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2552 มีชาวไทยภูเขาจากประมาณ 30 หมู่บ้าน กว่า 2,000 ครอบครัว หรือ 5,000 คน มาร่วมพิธี บางครอบครัวส่งตัวแทนมาร่วมพิธี และบางครอบครัวก็มากันทั้งหมด ประกอบไปด้วยชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง เผ่ามูเซอ เผ่าม้ง เผ่าลัวะ เป็นต้น ซึ่งต่างก็เดินทางไกลมาจากทุกสารทิศเพื่อร่วมงาน ชาวไทยภูเขาหลายครอบครัวมีความปรารถนาที่จะได้พระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชาที่บ้าน เพื่อเป็นที่ระลึกนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้ร้องขอมายังพระธรรมจาริก และเพื่อเป็นการสนับสนุนชาวไทยภูเขาที่ได้แสดงตนเป็นพุทธมามกะ พระเดชพระคุณพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิธรรมกาย ได้มอบพระพุทธรูปประจำครอบครัวจำนวน 2,000 องค์ ให้กับชาวไทยภูเขาทุกครอบครัว เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ชาวไทยภูเขาทุกคนรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้แสดงตนเป็นชาวพุทธ อีกทั้งได้รับพระพุทธรูปสำหรับประดิษฐานภายในบ้านของตน พวกเขาได้ทำความสะอาดบ้านเป็นอย่างดี และทำหิ้งพระด้วยความประณีตเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปประจำครอบครัวที่ได้รับไป นับเป็นสัญญาณที่ดี ที่ชาวไทยภูเขาจะได้นำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ไว้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ช่วยปิดอบาย นำไปสู่สวรรค์ และดำรงชีวิตในปัจจุบันอย่างเป็นสุข

บทความอื่นๆในหมวดนี้