วันคุ้มครองโลก :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันคุ้มครองโลก

วันคุ้มครองโลก

๒๒ เมษายน ... วันคุ้มครองโลก วันที่โลกถูกคุ้มครองด้วยธรรม

ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญ ปัญหา และ พบกับ ภาวะ ที่ก่อให้เกิด ภัยอันตราย หลากหลาย รูปแบบ และ มีแนวโน้ม จะสลับซับซ้อน และ ทวีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัญหา และ ความเดือดร้อน ของชาวโลกนี้ ส่งผล ให้คนกลุ่มหนึ่ง เกิดแนว ความคิด ที่จะรวมตัวกัน เรียกร้อง ให้ชาวโลก หันมา สนใจ และเห็น ความสำคัญ ของการ คุ้มครองโลก ให้อยู่รอด ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้เอง วันคุ้มครองโลก ( Earth Day) จึงมี จุดเริ่มต้นครั้งแรก ในวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๓ จาก ความคิดริเริ่ม ของวุฒิสมาชิกชาวอเมริกัน Gaylord Nelson ที่ได้รณรงค์ ให้ชาวอเมริกัน ร่วมมือกัน พิทักษ์คุ้มครองโลก โดยมีผู้เข้าร่วมเดินรณรงค์ในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมากถึง ๒๐ ล้านคน ทั้งนี้ เพื่อเป็น การกระตุ้นเตือนชาวโลก เกิดจิตสำนึก หันมาดูแลโลกของเรา ให้รอดพ้น จากภัยพิบัติ อันเกิด จากน้ำมือ ของมนุษย์ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ถูกทำลายล้าง อย่างรวดเร็ว เช่น การตัดไม้ ทำลายป่า และการทิ้ง กากสารเคมี อันเป็นผลพวง จากสงคราม และกระบวนการ อุตสาหกรรม ที่เป็นเหตุให้ ผืนดิน และ ผืนน้ำ ถูกปนเปื้อน ด้วยมลพิษ ซึ่งนับจากวันนั้น เป็นต้นมา กิจกรรมวันคุ้มครองโลก ก็ได้ขยาย ขอบข่าย ไปทั่วทุกมุมโลก ตราบกระทั่งทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมา จากอดีตถึงปัจจุบัน แม้ชาวโลกจะพยายามรณรงค์เรื่องนี้มากเพียงใด แต่ก็ยังคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก การทำลายล้าง ทรัพยากรธรรมชาติ และ ทรัพยากรมนุษย์ ยังคงดำเนินต่อไป อย่างไม่หยุดยั้ง ตราบเท่าที่ มนุษย์ยังคงไม่เข้าใจว่า ต้นตอของปัญหา ทั้งหมด ในโลกนี้ ล้วนเกิดขึ้น จากใจของมนุษย์ ทั้งสิ้น ดังนั้น หากชาวโลก หันมาแก้ไขปัญหา ที่ต้นเหตุ คือ ใจของมนุษย์ ย่อมนำไปสู่ การคุ้มครองโลก ที่สัมฤทธิผล ได้อย่างแน่นอน และในท่ามกลาง ประชาคมโลก หลายองค์กร ได้ให้ความสำคัญ กับกระแส ของการรณรงค์ ดังกล่าว รวมถึงองค์กร ทางศาสนา ก็ได้ให้ความสำคัญ กับกิจกรรมนี้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพระพุทธศาสนานั้น องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) โดยการนำเสนอ ของผู้แทนมูลนิธิธรรมกาย ได้มีมติให้วันที่ ๒๒ เมษายนของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก ภายใต้คำขวัญว่า “Clean the World Clean the Mind” เพราะตระหนักดีว่า ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม ที่ทรงคุณค่าที่สุด คือ ใจของมนุษย์ ซึ่งควรจะได้รับ การปกป้อง คุ้มครอง รักษา ด้วยธรรมะ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ที่คอยชักใย ให้มนุษย์ เกิดความคิด คำพูด และการกระทำ ที่เบียดเบียน ซึ่งกันและกัน ทำให้ได้รับความทุกข์ร้อน อย่างไม่รู้จักจบสิ้น ทั้งนี้ ศัตรูที่แท้จริง ของมวลมนุษย์ชาติ หาใช่ เพื่อนร่วมโลกที่ต่างกันด้วยภาษา ชาติพันธุ์ หรือความเชื่อไม่ แต่แท้ที่จริง คือกิเลสที่อยู่ภายในใจของมนุษย์ทุกคน ที่จำเป็นจะต้องขจัดออกไปให้หมดสิ้น ตามแนวทาง ที่พระบรมศาสดา ได้ทรงวางไว้ คือ การหมั่นทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เพื่อพูนสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น ในใจของมนุษย์ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จิตใจของมนุษย์ มีคุณภาพที่สูงขึ้น จนกระทั่ง เกิดความละอาย ที่จะทำความชั่ว และกลัว ผลของกรรมชั่ว ที่จะติดตามมา ทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า สมดังที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรง จำแนกธรรมะ อันเป็นเครื่องคุ้มครองโลก เอาไว้ ๒ ประการ ได้แก่ “ หิริ ” คือ ความละอาย ต่อการทำบาป อกุศล และ “ โอตตัปปะ ” คือ ความเกรงกลัว ต่อผลที่เกิดจากการกระทำ บาปอกุศลทั้งปวง ในเบื้องต้น หากมวลมนุษย์ชาติ ยึดหลักธรรมะ ๒ ประการนี้ โลก ก็จะได้รับ ความคุ้มครอง ด้วยธรรมะ ที่เกิดขึ้น ในจิตใจ ของมนุษย์นั่นเอง การที่ “โลกบาลธรรม” หรือธรรมคุ้มครองโลก ทั้งสองประการ จะบังเกิดขึ้น ใจจิตใจ ของมนุษย์ ได้อย่างแท้จริงนั้น หาได้เกิดจากการอ่าน และการท่องจำ ก็หาไม่ แต่จะต้อง เกิดจากการ ปฏิบัติ ให้เข้าถึง แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัยภายใน จึงจะสามารถเข้าใจ และปฏิบัติตาม หลักธรรม ดังกล่าว ได้อย่างแจ่มแจ้ง และ การปฏิบัติ ให้เข้าถึงสรณะภายใน คือ การเจริญภาวนา ฝึกฝนใจ ที่ประกอบ ไปด้วย ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ให้หยุดนิ่ง เป็นจุดเดียวกัน และดำเนินจิต ไปตามเส้นทางสายกลาง ณ ศูนย์กลางกาย ฐานที่เจ็ด จะทำให้ พบกับที่พึ่งภายใน คือ พระธรรมกาย ซึ่งเป็นสัจธรรม ที่มีอยู่ ในตัวของมนุษย์ ทุกคน ทั้งนี้เพราะมนุษย์ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง และมนุษย์ คือกลไกสำคัญ แห่งการดำเนินไป ของสังคมโลก อีกทั้งเป็น ศูนย์กลางพัฒนา ที่จะนำไปสู่ การสร้างสมดุล แก่สรรพชีวิต รวมถึง แก่สิ่งแวดล้อม ดังนั้น วัดพระธรรมกาย จึงมุ่ง ให้ความสำคัญ แก่การพัฒนา ทรัพยากรมนุษย์ มุ่งนำสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อยกคุณภาพมนุษย์ ให้มีความเจริญก้าวหน้า อย่างสมดุล ทั้งด้านการพัฒนาวัตถุ และการพัฒนา ทางจิตใจ และ วัดพระธรรมกาย มุ่งที่จะ หยิบยื่น สิ่งที่ดี ที่มีคุณค่า ให้แก่โลก และ มุ่งมั่น ที่จะสถาปนา สันติสุข อันไพบูลย์ แก่มวลมนุษย์ชาติ ด้วยพระพุทธธรรม อันประเสริฐ เพราะเมื่อบุคคลทั้งหลาย เข้าถึงธรรม ได้เวลาใด ณ เวลานั้น ทุกคนจะรู้ว่า สันติสุขภายในจิตใจ สร้างสรรค์ ให้เกิดสันติภาพภายนอก อย่างแท้จริงได้ นั้นเอง เมื่อใดก็ตาม ที่มวลมนุษยชาติ ปล่อยวาง ความเชื่อเดิม ไว้ชั่วคราว แล้วก้าว เข้ามา ศึกษา ความจริง เมื่อนั้น มนุษย์ทุกคน ย่อมสามารถ สัมผัส กับความสุข อันละเอียด ประณีตภายใน ที่จะส่งผล ให้จิตใจ เกิดการเปลี่ยนแปลง ไปในทางที่ดีขึ้น และจะหันมาส่งความรัก ความปรารถนาดี ต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ รวมไปถึง สิ่งแวดล้อม ทั้งปวง ซึ่งนับเป็น ชัยชนะที่แท้จริง ที่มวลมนุษย์ชาติ เฝ้าแสวงหา มาโดยตลอด เมื่อถึงจุดนั้น โลกทั้งใบ ก็จะได้รับ การคุ้มครองรักษา ด้วยธรรมะที่เกิดขึ้น กลางใจของมนุษย์ อย่างแท้จริง …

อานิสงส์สร้างพระพุทธรูป

ตอน ก่อนตายจิตเลื่อมใสได้ไปสวรรค์ จากเรื่องราวของ มัฏฐกุณฑลี

การทำใจให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทำให้เกิดความสุขตั้งแต่เริ่มต้นที่เกิดความเลื่อมใส ไปจนถึงแม้ตายไปแล้วก็มีความสุขในสวรรค์ ถึงแม้จะไม่เคยให้ทาน ไม่เคยรักษาศีลเลย แต่ถ้าหากช่วงสุดท้ายของชีวิต ได้ทำใจให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเต็มหัวใจ ก็มีสิทธิ์เสวยทิพสมบัติในสวรรค์ได้ ดังเรื่องต่อไปนี้

ในกรุงสาวัตถี มีหนุ่มน้อยคนหนึ่งอายุ 16 ปี เขาเกิดมาในตระกูลพราหมณ์ที่มีฐานะพอปานกลาง แต่ผู้เป็นพ่อของเขานั้นมีความตระหนี่เหนียวแน่นชนิดที่ไม่เคยให้อะไรแก่ใครเลย วันหนึ่ง พราหมณ์อยากจะให้เครื่องประดับลูก แต่ก็เสียดายค่าจ้าง จึงทำตุ้มหูด้วยตนเอง มีลักษณะกลมเกลี้ยง แล้วเอาให้ลูกประดับหู เขาจึงมีชื่อว่า “มัฏฐกุณฑลี” แปลว่าผู้มีตุ้มหูเกลี้ยงๆ วันหนึ่งเขาป่วยเป็นโรคผอมเหลือง ผู้เป็นแม่เห็นเข้าก็ไปหาพราหมณ์บอกว่า “ท่านพราหมณ์ ลูกของเราป่วยมากแล้ว ท่านรีบไปหาหมอมารักษาลูกเสียเถิด” พราหมณ์บอกว่า “นางผู้เจริญ ถ้าเราหาหมอมา ก็ต้องให้ค่าจ้าง เธอไม่คิดถึงค่ารักษาที่จะต้องเสียเลยหรือ” นางพราหมณีจึงกล่าวว่า “ก็ลูกเราป่วยนะ ไม่หาหมอมารักษา แล้วท่านจะทำอย่างไรเล่า” พราหมณ์กล่าวว่า “ ก็หาทางรักษาชนิดที่ไม่ต้องให้ค่าจ้างก็ได้นี่” พราหมณ์เมื่อพูดเช่นนี้แล้ว ก็ได้ไปหาหมอ แล้วก็ถามว่าคนที่เป็นโรคอย่างนี้จะต้องใช้ยาชนิดไหน หมอก็บอกว่าต้องเปลือกต้นไม้ชนิดนั้น รากไม้ชนิดโน้น พราหมณ์จึงรวบรวมพืชสมุนไพรตามที่หมอบอก เอามาประกอบกันต้มปรุงเป็นยาให้ลูกดื่ม ลูกดื่มยาที่พราหมณ์ต้มให้ ผ่านไป 2-3 วัน อาการป่วยก็ยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ หนักเข้าก็หมดแรง ลุกไม่ไหว พราหมณ์เห็นแล้วก็รู้ว่า ลูกเราไม่ไหวแล้ว จึงไปหาหมอมาคนหนึ่ง เมื่อหมอนั้นมาตรวจดูก็รู้ว่า คงไม่รอดแล้วละ จึงพูดเลี่ยงไปว่า “ท่านหาหมออื่นมารักษาเถอะ เรามีธุระด่วนเสียแล้ว” พราหมณ์รู้ว่าลูกเราคงอยู่อีกไม่นานแล้ว จึงอุ้มลูกออกมาจากห้อง ให้นอนที่ระเบียงหน้าบ้าน เพราะกลัวผู้ที่มาเยี่ยมจะเห็นสมบัติที่อยู่ในเรือน วันนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง ทรงทอดพระเนตรเห็นมัฏฐกุณฑลีปรากฏในข่ายพระญาณ ในสภาพที่ป่วยหนักนอนรอความตายอยู่ที่ระเบียงหน้าบ้าน จึงทรงดำริว่า “เมื่อเราไปยังที่นั้น จะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง” ก็ทรงเห็นเหตุการณ์โดยตลอด จนถึงมัฏฐกุณฑลีได้เกิดในสวรรค์ ได้ฟังธรรมพร้อมกันกับพราหมณ์ผู้เป็นพ่อ แล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ในวันรุ่งขึ้น จึงเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถีโดยมีพระสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม ทรงพระดำเนินไปตามลำดับถึงประตูเรือนของพราหมณ์นั้น ในขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีนอนหันหน้าเข้าไปภายในเรือน พระบรมศาสดาทรงทราบว่า เขาไม่เห็นพระองค์ จึงเปล่งพระรัศมีให้สว่างจ้าขึ้น มัฏฐกุณฑลีคิดว่า “แสงสว่างอะไรนะ” จึงพลิกตัวกลับมา เห็นพระบรมศาสดาจึงคิดว่า “เรามีพ่อเป็นคนพาล จึงไม่ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทำการต้อนรับ ไม่ได้ถวายทาน หรือฟังธรรมสักอย่างเดียว” “บัดนี้ แม้แต่มือทั้งสองก็ยังยกไม่ไหว บุญอย่างอื่นเราทำไม่ได้แล้ว” เมื่อคิดอย่างนี้แล้วจึงทำใจให้เลื่อมใสแต่เพียงอย่างเดียว พระบรมศาสดาทรงทราบว่า “มัฏฐกุณฑลี ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้ว” ก็เสด็จจากไป เมื่อพระตถาคตเจ้าเสด็จไปพอลับตาเท่านั้น มัฏฐกุณฑลีก็สิ้นใจ เป็นเหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นในวิมานทองสูงประมาณ 30 โยชน์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร 1 พัน ส่วนพราหมณ์ผู้เป็นพ่อเมื่อฌาปนกิจร่างของลูกชายแล้ว ก็ได้แต่เศร้าโศกเสียใจคิดถึงลูกชายที่ตายไปแล้ว จึง ไปเดินร้องไห้รำพึงรำพัน ในป่าช้าใกล้ๆ ที่เผาศพของลูกชายว่า “ลูกชายคนเดียวของพ่ออยู่ไหนจงมาหาพ่อเถอะ” ทุกวัน ขณะนั้นเทพบุตรมัฏฐกุณฑลีกำลังตรวจดูทิพสมบัติของตน คิดว่าสมบัตินี้เราได้ด้วยบุญอะไร? ก็รู้ว่า ได้ด้วยบุญที่ทำใจให้เลื่อมใสในพระบรมศาสดา และตรวจต่อไปอีกก็เห็นพ่อกำลังเดินร้องไห้คิดถึงตนอยู่ในป่าช้า จึงจำแลงกายเป็นมาณพหนุ่มคล้ายมัฏฐกุณฑลีมายืนร้องไห้ในที่ไม่ไกลจากที่ๆ พราหมณ์ยืนร้องไห้อยู่ ด้วยประสงค์จะบรรเทาความเศร้าโศกของพราหมณ์ และแนะนำเนื้อนาบุญให้ ครั้นพราหมณ์เห็นมาณพหนุ่มแต่งกายเหมือนมัฏฐกุณฑลีมายืนร้องไห้ใกล้ๆ จึงเข้าไปหาถามว่า ท่านเป็นใครมายืนร้องไห้ต้องการอะไรหรือ มาณพนั้นจึงตอบว่า “ข้าพเจ้ามีรถอยู่คันหนึ่งมีความงดงามมาก แต่ข้าพเจ้ายังหาล้อที่เหมาะสมกับรถของข้าพเจ้าไม่ได้ เพราะเหตุนี้แหละข้าพเจ้าจึงอยากตาย” พราหมณ์จึงกล่าวว่า “ท่านต้องการล้อเงิน ล้อทอง แก้วมณี หรือโลหะ จงบอกมาเถิด ข้าพเจ้าจะจัดหามาให้ท่าน” มาณพนั้นจึงคิดว่า “ตอนที่เราป่วยใกล้จะตายพราหมณ์นี้ไม่ยอมเสียเงินค่ารักษาเราเลย แต่มาตอนนี้กลับบอกว่าจะเอาล้อเงิน ล้อทองมาให้ เราจะต้องสั่งสอนพราหมณ์นี้ให้รู้สำนึก” จึงพูดว่า “ข้าพเจ้าต้องการดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ทั้งสองมาทำเป็นล้อ ท่านจะให้ได้หรือไม่” พราหมณ์จึงพูดว่า “ท่านอยากในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จะตายเปล่า ช่างโง่เขลาเสียจริง” มาณพจึงตอบว่า “ข้าพเจ้าอยากได้ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏเห็นอยู่ แต่ท่านกลับต้องการในสิ่งที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ระหว่างท่านกับข้าพเจ้าใครโง่เขลากว่ากันเล่า” แล้วจึงบอกให้พราหมณ์ให้รู้ว่าตนคือมัฏฐกุณฑลี เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยบุญที่ทำใจให้เลื่อมใสในพระบรมศาสดา แล้วจึงแนะนำพราหมณ์ให้ถวายทานแด่พระองค์ พราหมณ์เกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ มาถวายภัตตาหาร ในวันรุ่งขึ้น ตามคำแนะนำ ของเทพบุตรลูกชาย เมื่อพระศาสดาฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว จึงได้ทูลถามพระบรมศาสดาว่า จริงหรือที่บุคคลไม่เคยทำบุญมาเลยตลอดชีวิต แต่เพียงแค่ทำจิตให้เลื่อมใส ในพระพุทธองค์ตอนใกล้ตาย เมื่อตายแล้วได้ไปเสวยทิพยสมบัติบนสวรรค์ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “พราหมณ์ท่านถามเรื่องนี้กับเราทำไม ในเมื่อมัฏฐกุณฑลี ได้บอกความจริงทั้งหมดแก่ท่านแล้วมิใช่หรือ” แล้วทรงอธิษฐานให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรมาปรากฏกายยืนยันถึงผลบุญพร้อมทั้งวิมาน แล้วทรงแสดงธรรมและเมื่อจบพระธรรมเทศนา มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรและพราหมณ์บรรลุโสดาบัน ส่วนมหาชนทั้งหลายมีดวงตาเห็นธรรมโดยถ้วนหน้า อานิสงส์ที่เกิดจากการทำใจให้เลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่เพียงอย่างเดียว ยังส่งผลมากถึงเพียงนี้ แล้วการมาสร้างองค์พระซึ่งเป็นรูปกายของพระองค์ด้วยใจที่เลื่อมใส จะได้บุญมากเพียงไร ไม่ต้องพูดถึงละ จึงขอเชิญชวน ท่านผู้มีบุญ มาสร้างพระธรรมกายประจำตัว เพื่อประดิษฐานภายในมหาธรรมกายเจดีย์โดยพร้อมเพรียงกัน

บทความอื่นๆในหมวดนี้