โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก

มนุษย์ทุกคนต่างเป็นสมาชิกในสังคมต่างๆ ทั้งในระดับครอบครัวหรือประเทศ ต่างก็มีหน้าที่ ความรับผิดชอบตามบทบาทของคนเองในสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาสร้างสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มนุษย์ได้ลองมาหลากหลายวิธีที่จะพัฒนาสังคมมายาวนาน หากแต่ว่ากาลเวลาที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาสังคมแต่เพียงด้านเดียวคือวัตถุ ทำให้ผู้คนหลงใหลไปกับการแก่งแย่ง แข่งขัน มัวเมากับอบายมุขและสิ่งยั่วยุต่างๆ ท้ายที่สุดก็นำไปสู่หนทางเสื่อม เช่น ปัญหาทางเพศ ยาเสพติด การทะเลาวิวาทและสงครามไปทั่วทุกมุมโลก ดังนั้นประชาสังคม (Civil Society) จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างสำนึกรับผิดชอบและความร่วมมือของบุคคลและองค์กรเพื่อแก้ปัญหาและ ศีลธรรม เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตลอดถึงการจัดสรรทรัพยากรและการบริหารชุมชนและสังคม ซึ่งเกิดขึ้นได้โดยดึงเอาสถาบันทางพระพุทธศาสนาเข้ามาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกทางหนึ่งด้วย เพราะมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของทุนทางสังคม (Social Capital)

มูลนิธิธรรมกายโดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธิ จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างทุนทางสังคมให้เข้มแข็งอย่างเร่งด่วน นั่นคือการพัฒนามนุษย์ เพราะที่ผ่านมา มูลนิธิธรรมกาย มีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า “จะสร้างวัดให้เป็นวัด ที่เพียบพร้อมด้วยความสงบ สะอาด สง่างาม จะสร้างพระให้เป็นพระ และสร้างคนให้เป็นคนดีปัญญา" เพราะพระภิกษุ สามเณร และพุทธศาสนิกชน ล้วนเป็นทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพของสังคม และพระธรรมก็เป็นทุนทางปัญญาที่จะนำมาสร้างศีลธรรมและสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก จึงได้ให้กำเนิดโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลกมากมาย เพื่อพัฒนาสมาชิกในบ้านอย่างครบวงจร ทั้งพ่อแม่ลูก ได้แก่

 

โครงการบวชพระแสนรูป

โครงการบวชพระแสนรูปจัดขึ้น เพื่อพัฒนาผู้นำครอบครัว ผ่านกิจวัตรกิจกรรม ได้แก่ การรักษาศีล ฝึกสมาธิและเรียนรู้หลักธรรม โดยมีคุณธรรมพื้นฐานคือ วินัย เคารพ และอดทน และกิจวัตรภาคปฏิบัติ ตั้งแต่ก่อนบวช ได้แก่ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ การรับบุญดูแลทำความสะอาดเสนาสนะต่างๆ เป็นต้น เมื่อบวชแล้วทุกคนจะได้เรียนรู้ธรรมวินัย เพื่อศึกษาถึงแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ได้เป็นพระแท้ เพื่อเป็นต้นบุญต้นแบบให้คนในสังคม ผู้ที่ผ่านการอบรมแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดศรัทธาอยู่ต่อ เพื่อช่วยดำรงรักษาและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป แม้คนที่ลาสิกขาออกไป ยังสามารถนำคุณธรรมความรู้ต่างๆที่ร่ำเรียนมา ไปถ่ายทอดให้สมาชิกในครอบครัว ช่วยยกระดับศีลธรรมของคนในสังคมให้สูงขึ้น

 

โครงการอบรมอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 1 ล้านคน

เมื่อผู้ชายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวมีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุแล้ว ผู้หญิงซึ่งทำหน้าที่เป็นหลักในครอบครัว คอยรับภาระเลี้ยงดูบุตรก็ยังสามารถช่วยปลูกฝังคุณธรรมความดีให้กับสมาชิกในบ้านได้ ซึ่งจะส่งผลให้มีครูผู้เป็นต้นแบบทางศีลธรรมในครอบครัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การอบรมจะเน้นการฝึกพัฒนานิสัย ผ่านกิจวัตร กิจกรรมประจำวันต่างๆ ได้แก่ การสวดมนต์ นั่งสมาธิ การรับบุญดูแลทำความสะอาดเสนาสนะ รวมถึงการปลูกฝังให้รู้จัก การทำทาน การรักษาศีลและเจริญสมาธิ เพื่อสั่งสมบุญกุศล ทำกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

 

โครงการเด็กดี V-STAR

สำหรับโลกในอนาคต ล้วนฝากไว้กับเยาวชนผู้ทำหน้าที่สืบสานความรู้ทางด้านศีลธรรม ทางมูลนิธิจึงได้นำกิจกรรมฟื้นฟูศีลธรรมเข้าไปยังโรงเรียนผ่านโครงการเด็กดี V-STAR ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจากโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ จะได้รับการฝึกพัฒนานิสัย ผ่านการทำการบ้าน 10 ข้อ ซึ่งเด็กๆทุกวัยสามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย เมื่อผ่านไปได้ระยะหนึ่ง พฤติกรรมของเด็กจะถูกหล่อหลอมในทางที่ดีโดยไม่รู้ตัว โดยมีกิจกรรมต่างๆมาช่วยกระตุ้น ได้แก่ การจัดกิจกรรมวันรวมพลังเด็กดี V-STAR การมารวมตัวกันทำความดีเป็นจำนวนมากๆจากทั่วประเทศ ซึ่งครั้งล่าสุดมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 500,000 คน ทำให้เด็กมีกำลังใจ รวมถึงรู้สึกสนุกสนานในการทำดี และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆเป็นอย่างดี

 

งานฟื้นฟูศีลธรรมในต่างประเทศ

เนื่องจากปัญหาศีลธรรมตกต่ำเกิดขึ้นไปทั่วโลก และจากเป้าหมายหลักของมูลนิธิ คือ เพื่อเสริมสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้กับชาวโลก ฉะนั้น ไม่เพียงแต่ในเมืองไทย แต่ยังได้มีโครงการฟื้นฟูศีลธรรม ด้วยหลักพระธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆทุกทวีป โดยเฉพาะประเทศที่เป็นอดีตเมืองที่พระพุทธศาสนาเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ซึ่งหลังจากกิจกรรมเหล่านี้ผ่านไปแล้ว คนในประเทศต่างๆดังกล่าวได้มีการตื่นตัวและหันกลับมาศึกษาพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา ทำให้เกิดการขยายตัวออกไปในวงกว้างมากขึ้น ได้แก่

มองโกเลีย

หลังจากกิจกรรมลอยโคมวันวิสาขบูชาเป็นพุทธบูชาแล้ว ในปีต่อๆมา ได้จัดให้มีกิจกรรมเด็กดี V-STAR ขึ้นในโรงเรียนต่างๆ เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งในปี 2553 มีโครงการที่จะมีเด็กๆเข้าร่วมถึง 20,000 คน จากปีแรกที่มีเด็กเข้าร่วม 250 คน ซึ่งเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 100 เท่าตัวภายใน 1 ปี

อินเดีย

หลังจากการจัดงานลอยโคมวันวิสาขบูชา ได้เกิดโครงการอบรมอุบาสก-อุบาสิกาแก้วขึ้นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการอบรมเพื่อรื้อฟื้นหลักธรรมคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมถึงวัฒนธรรมสำหรับชาวพุทธที่ควรยึดถือปฏิบัติที่ได้เลือนรางไปในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา ให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง การอบรมดังกล่าวใช้เวลา 1 สัปดาห์ และมีชาวอินเดียสนใจ กว่า 300 คน หนึ่งในจำนวนนั้น ตัดสินใจบวชเป็นพระภิกษุทันทีหลังจบโครงการ

ศรีลังกาและบังคลาเทศ

มีการมอบองค์พระประธานให้กับวัดต่างๆจำนวน 222 องค์และ 250 องค์ตามลำดับ เพื่อประดิษฐานให้กับวัดต่างๆทั่วประเทศ ทำให้ชาวพุทธมีที่พึ่งที่ระลึกในวัดของตนเองเพิ่มขึ้นนอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมการสอบแข่งขันปัญหาธรรมะในระดับครอบครัวขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการศึกษาความรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและยกระดับศีลธรรมในหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด คือ ครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก
สำหรับประเทศที่ยังไม่เคยมีพระพุทธศาสนามาก่อน หรืออยู่ในช่วงเริ่มต้นการเข้ามาเป็นชาวพุทธ ทางมูลนิธิได้เริ่มจากกิจกรรมง่ายๆ คือ การอบรมอุบาสิกาแก้ว 1 สัปดาห์ ได้แก่ ที่ประเทศคองโก้ และหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี มีหนทางสดใสในการปลูกฝัง คุณธรรมในพระพุทธศาสนาภายในประเทศดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะฝึกผู้นำทางศีลธรรม เพื่อกลับไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศของตน ผ่านโครงการบวชพระนานาชาติ (International Dhammadayada Ordination Program หรือ IDOP) ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติอย่างเข้มข้นที่ประเทศไทย ผ่านกิจวัตร กิจกรรมต่างๆ เช่นเดียวกับพระสงฆ์ชาวไทย รวมทั้งการศึกษาความรู้ในทางปริยัติและปฏิบัติควบคู่กันไป เมื่อพร้อมแล้วก็สามารถเป็นกำลังหลักในการฟื้นฟูหรือเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศของตนได้ต่อไป
เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการพัฒนาทางสังคมคือทรัพยากรมนุษย์ ที่วัดพระธรรมกายได้ทำมาตลอดระยะเวลา 40 ปี ถ้าคณะสงฆ์ในฐานะชาวพุทธด้วยกันนำคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาใช้และตั้งใจทำได้อย่างนี้ ปัญหาต่างๆที่เหมือนไร้ทางออกจะแก้ได้สำเร็จ และสันติสุขของโลกจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
บทความอื่นๆในหมวดนี้